Monday, March 9, 2009

จะเลือกเรียนอย่างไรเมื่อไปศึกษาวิชากฎหมายต่อในต่างประเทศเพื่อกลับมาสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา??

สรุปโดยย่อ เราเลือกเรียนได้สามแบบ คือ
1. LL.M. in General 2 ใบ โดยต้องเรียนวิชาบังคับตามที่ก.ต.กำหนด 6 วิชา ได้แก่ กฎหมายอาญา 1 วิชา กฎหมายแพ่งและกฎหมายพิเศษรวมกัน 4 วิชา กฎหมายพยานหลักฐาน, กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา/แพ่ง, หรือกฎหมายล้มละลาย 1 วิชา
2. LL.M. in General 1 ใบ และ LL.M. in Specialization 1 ใบ or LL.M. in Specialization ทั้ง 2 ใบ
Specialization หมายถึง วิชากฎหมายเด็กและเยาวชน กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษีอากร กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ กฎหมายพาณิชย์นาวี หรือกฎหมายล้มละลาย
3. LL.M. in General 2 ใบ เรียนวิชาบังคับตามที่ก.ต.กำหนดเพียง 2 วิชา ซึ่ง 1 วิชาจะต้องเป็น กฎหมายอาญา หรือ กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน หรือกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือกฎหมายล้มละลาย หรือ กฎหมายแพ่ง ซึ่งพอเทียบได้กับลักษณะใดลักษณะหนึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ เรียนวิชาเฉพาะ(Specialization) ทางสาขาใดสาขาหนึ่งอีก อย่างน้อย 4 วิชา

เชื่อว่าหลายๆ คน คงจะสับสนเกี่ยวกับการศึกษาต่อปริญญาโททางกฎหมายในต่างประเทศ เพื่อที่จะกลับมาสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา โดยเฉพาะการเข้าสอบในสนามจิ๋ว ข้อที่ว่าเราต้องเรียนปริญญาโทถึง 2 ใบนั้นคงจะไม่มีใครข้องใจ เพราะว่า ตามมาตรา ๒๘ (๒) (ข) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้กำหนดคุณวุฒิ ของผู้สมัครสอบไว้ว่า ผู้สมัครสอบ จะต้องสอบไล่ได้ปริญญาจากต่างประเทศโดยมีหลักสูตรเดียวไม่น้อยกว่าสองปี หรือหลายหลักสูตรรวมกันไม่น้อยกว่าสองปี ซึ่งก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี อย่างไรก็ตาม ตามที่ปรากฏการศึกษาปริญญาโททางกฎหมายทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา และ ประเทศอังกฤษ ต่างก็เป็นหลักสูตรที่เรียนกันราว 1 ปีเท่านั้น จึงทำให้นักศึกษาไทย ต้องไปเรียนปริญญาโท ในต่างประเทศถึง สองใบ เพื่อให้ครบคุณสมบัติที่ ก.ต.กำหนดไว้ดังกล่าว

แต่ว่าเมื่อไปศึกษาแล้วเราควรจะเรียนวิชาใดบ้างเพื่อให้กลับมามีคุณสมบัติที่จะสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาได้ ในข้อนี้ หลายคนคงจะสับสันอย่างมาก ในการนี้ เราได้พิจารณาตาม ระเบียบระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการสมัครและการทดสอบความรู้ เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา พ.ศ. ๒๕๔๕ ข้อ ๗[1] ซึ่งเราสามารถเลือกเรียนวิชากฎหมายในต่างประเทศได้ 2 ทางเลือก กล่าวคือ

ทางเลือกที่ 1: ถ้าเราเลือกเรียนในหลักสูตร LL.M. ในต่างประเทศ ซึ่งมีชื่อหลักสูตรว่า LL.M. (General) or LL.M. in American Law นั้นหมายความว่าเราในการเรียนปริญญาสองใบนั้น เราต้องเลือกเรียนวิชาดังต่อไปนี้ให้ครบถ้วน รวม 6 วิชา จึงจะครบคุณสมบัติตามระเบียบ ก.ต.
1. วิชากฎหมายอาญา
2. วิชากฎหมายแพ่ง ซึ่งพอเทียบได้กับลักษณะใดลักษณะหนึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวม 4 วิชา (เช่นสัญญา, ซื้อขาย, ทรัพย์สิน, ประกันภัย เป็นต้น) หรือ วิชากฎหมายแพ่งซึ่งพอเทียบได้กับลักษณะใดลักษณะหนึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายพิเศษตามที่ระบุท้ายระเบียบนี้[2] รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 4 วิชา และ
3. กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน หรือกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือกฎหมายล้มละลาย

ดังนั้นในการเรียนปริญญาโทในต่างประเทศสองใบเราจะถูกบังคับให้ต้องเลือก เรียนวิชาดังกล่าว ทั้งสิ้นให้ครบ รวม 6 วิชา ซึ่งจะทำให้เรามีคุณสมบัติที่จะสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาได้ แต่อย่างไรก็ดี ในการศึกษากฎหมายในระดับปริญญาโท ณ ต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับนักกฎหมายต่างชาติ แล้ว การศึกษาปริญญาโทหนึ่งใบ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะบังคับให้เราเรียนอย่างน้อย ราว 20-24 หน่วยกิต นั้นหมายความว่าเทอมๆ หนึ่ง เราจะต้องเรียนประมาณ 4-5 วิชา (วิชาละ 2-3 หน่วยกิต) อย่างไรก็ดี เราในฐานะนักศึกษากฎหมายที่เป็นชาวต่างชาติจะถูกบังคับให้เรียนวิชาที่เกี่ยวกับระบบกฎหมายของประเทศนั้นๆ นิติวิธี และการทำเอกสารทางกฎหมายของประเทศที่เราศึกษานั้น ซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่า เป็นวิชา สำหรับ LL.M. (LL.M. Courses) เช่น Introduction to the U.S. Legal System, Legal Writing, Legal Research, Topics in American Law, Contract Drafting, etc. ฉะนั้นในการศึกษาปริญญาโทใบแรก เป็นที่แน่ชัดว่าเราต้องเรียนวิชาเหล่านี้ ซึ่งทำให้เราเสียหน่วยกิตที่จะเรียนในวิชาที่ก.ต.บังคับ หรือวิชาที่เราอยากศึกษาต่อจริงๆ ไป ราว 4 วิชา เท่ากับว่า เราสามารถ เลือกเรียนวิชาทางกฎหมายจริงๆ ได้อีกแค่เพียง 4-5 วิชาเท่านั้น เพราะหากเลือกเรียนมากไปกว่านี้ก็จะหนักเกินไปสำหรับเราที่เป็นนักศึกษาต่างชาติ แน่นอนว่า เราเรียนจบใบแรกแล้ว ก็ยังไม่สามารถเก็บวิชาที่ก.ต. บังคับไม่ได้ครบเป็นแน่ (ก.ต.บังคับมี 6 วิชาตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น) ฉะนั้นเราก็ต้องเลือกเรียนต่อในการเรียนปริญญาโท ใบที่สอง จึงจะทำให้เราเรียนครบตามที่ก.ต.กำหนดไว้
?? ในการเรียนใบที่สอง เราสามารถ ขอมหาวิทยาลัยไม่เรียน วิชาสำหรับ LL.M. แล้วได้หรือไม่ เพราะเราเรียนมาในใบแรกแล้ว ??

ทางเลือกที่ 2: ถ้าเราเลือกเรียนหลักสูตร LL.M. ในต่างประเทศ สองใบ แต่ว่าเราไม่ต้องการที่จะเรียนวิชาที่ก.ต.บังคับตาม ทางเลือกที่หนึ่งทั้ง 6 วิชา เราก็ต้องเลือกเรียนในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ จึงจะมีคุณสมบัติครบถ้วนเพื่อที่จะสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา
1. เลือกเรียน เป็น LL.M. in …(Specialization)… เช่น LL.M. in Taxation, LL.M. in Intellectual Property Law เป็นต้น ซึ่งตามที่ ก.ต.กำหนด ไว้ ตามข้อ ๗ วรรคสอง (๑) ระเบียบฯ[3] กล่าวคือ เราต้องศึกษาตามหลักสูตรการศึกษากฎหมายที่จัดไว้เป็นหลักสูตรเฉพาะด้านในวิชา 1. กฎหมายเด็กและเยาวชน (ผู้เขียนไม่เคยเห็นหลักสูตรนี้ในประเทศอเมริกาอ่ะ) 2. กฎหมายแรงงาน (น่าจะมีที่ University of Minnesota นะ เคยเห็น) 3. กฎหมายภาษีอากร (มีอยู่หลาย Universities ex. HLS, NYU, etc) 4. กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (มีอยู่หลาย Universities เช่นกัน) 4. กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (มีอยู่หลายที่เช่นกัน น่าจะ โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ) 5. กฎหมายพาณิชย์นาวี (ไม่เคยเห็นในอเมริกาอ่ะ) 6. กฎหมายล้มละลาย (ไม่เคยเห็นในอเมริกาเช่นกันจ้ะ)

การเลือกเรียนในลักษณะนี้ ขอเพียงแค่เรียนปริญญาโทในต่างประเทศในหลักสูตรเฉพาะทางดังกล่าว เพียงแค่ใบเดียว ก็น่าจะครบคุณสมบัติตามที่ ก.ต. กำหนด (จากการตีความของผู้เขียน)

2. เลือกเรียนกลุ่มวิชาเฉพาะด้านกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้แก่ วิชากฎหมายเด็กและเยาวชน กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษีอากร กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ กฎหมายพาณิชย์นาวี หรือกฎหมายล้มละลาย ไม่น้อยกว่า 4 วิชา และ เรียนวิชาตามทางเลือกที่ 1 ด้วยอีกไม่น้อยกว่า 2 วิชา โดยใน 2 วิชานี้ อย่างน้อย 1 วิชา จะต้องเป็น 1. วิชากฎหมายอาญา หรือ 2.วิชากฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน หรือกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือกฎหมายล้มละลาย หรือ 3. วิชากฎหมายแพ่ง ซึ่งพอเทียบได้กับลักษณะใดลักษณะหนึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[4]

การเลือกเรียนในกรณีนี้เท่ากับว่า เราไม่ต้อง เลือกเรียนในหลักสูตร LL.M. in Specialization ในต่างประเทศ คือเลือกเรียนเป็น LL.M. in General ทั้งสองใบเลยก็ได้ แต่ว่า เวลาเรียนเราเลือก เรียนวิชาเฉพาะทางซึ่งได้แก่ 6 วิชาที่กล่าวมาข้างต้น โดยเลือกเฉพาะทางด้านใดด้านหนึ่ง เรียนวิชาสาขานั้นๆ ให้ครบ อย่างน้อย 4 วิชา แล้วเราก็เรียนวิชาที่ก.ต.บังคับ อีก 2 วิชา แต่จะเรียนวิชากฎหมายพิเศษ[5] ทั้งสองวิชาเลยไม่ได้ เรียนได้แค่ ตัวเดียว อีกตัวต้องเรียน 1.วิชากฎหมายอาญา หรือ 2.วิชากฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน หรือกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือกฎหมายล้มละลาย หรือ 3. วิชากฎหมายแพ่ง ซึ่งพอเทียบได้กับลักษณะใดลักษณะหนึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

บทความโดย: Thita View Pithaksantisook
Reference:

[1] ข้อ ๗ ผู้สมัครตามความในมาตรา ๒๘ (๒) (ก) (ข) หรือ (ค) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบ
ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ต้องได้ศึกษาและสอบไล่ได้ในวิชากฎหมายต่อไปนี้จากต่างประเทศหรือในการศึกษาปริญญาโททางกฎหมายในประเทศไทยแล้วแต่กรณีด้วย คือ
(๑) กฎหมายอาญา
(๒) กฎหมายแพ่ง ซึ่งพอเทียบได้กับลักษณะใดลักษณะหนึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวม ๔ วิชา หรือกฎหมายแพ่ง ซึ่งพอเทียบได้กับลักษณะใดลักษณะหนึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายพิเศษตามที่ระบุท้ายระเบียบนี้ รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า ๔ วิชา และ
(๓) กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน หรือกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือกฎหมายล้มละลาย
ผู้สมัครที่ได้ศึกษาและสอบไล่ได้ตามหลักสูตรการศึกษากฎหมายดังต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องศึกษาวิชากฎหมายตามวรรคหนึ่ง
(๑) ผู้สมัครที่ได้ศึกษาและสอบไล่ได้ตามหลักสูตรการศึกษากฎหมายที่จัดไว้เป็นหลักสูตรเฉพาะด้านในวิชากฎหมายเด็กและเยาวชน กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษีอากร กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ กฎหมายพาณิชย์นาวี กฎหมายล้มละลาย
(๒) ผู้สมัครที่ได้ศึกษาและสอบไล่ได้ในวิชากฎหมายที่อยู่ในกลุ่มวิชากฎหมายกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตามวรรคสอง (๑) ไม่น้อยกว่า ๔ วิชา และได้ศึกษาและสอบไล่ได้ในวิชากฎหมายตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่งอีกไม่น้อยกว่า ๒ วิชา โดยในจำนวนนี้อย่างน้อย ๑ วิชา ต้องเป็นวิชาตาม (๑) (๓) หรือ
กฎหมายแพ่ง ซึ่งพอเทียบได้กับลักษณะใดลักษณะหนึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อ ๘ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณจำนวนวิชาที่กำหนดในข้อ ๗ วรรคหนึ่ง (๒) และวรรคสอง (๒) ถ้าผู้สมัครคนใดได้ศึกษาและสอบไล่ได้ในวิชากฎหมายในระบบการจัดการศึกษาที่กำหนดให้มีการเรียนการสอนวิชากฎหมายนั้นตลอดปีการศึกษาและมีการวัดผลเมื่อสิ้นปีการศึกษา ให้ถือว่าผู้นั้นได้
ศึกษาและสอบไล่ได้ในวิชากฎหมายตามที่กำหนดไว้ในข้อดังกล่าว ๒ วิชา


[2] กฎหมายพิเศษ กฎหมายพิเศษตามความในข้อ ๗ วรรคหนึ่ง (๒) ได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายมหาชน นิติปรัชญา กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารกระบวนการยุติธรรม กฎหมายพาณิชย์นาวี กฎหมายทะเล กฎหมายอากาศ กฎหมายอวกาศ กฎหมายโทรคมนาคม กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติ กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน กฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ กฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดีระหว่างประเทศ กฎหมายเครื่องหมายการค้า กฎหมายสิทธิบัตร กฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหมายเด็กและเยาวชน นิติเวชศาสตร์ อาชญาวิทยา กฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมทางธุรกิจ กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษีอากร กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายอาญาระหว่างประเทศ การขัดกันแห่งกฎหมาย กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ กฎหมายธุรกิจ กฎหมายว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายเกี่ยวกับการลงทุน กฎหมายเกี่ยวกับการเงินการธนาคาร กฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายป้องกันการผูกขาดหรือการแข่งขันทางการค้า กฎหมายการเกษตร และกฎหมายพลังงาน
[3] ข้อ ๗ วรรคสอง ผู้สมัครที่ได้ศึกษาและสอบไล่ได้ตามหลักสูตรการศึกษากฎหมายดังต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องศึกษาวิชากฎหมายตามวรรคหนึ่ง
(๑) ผู้สมัครที่ได้ศึกษาและสอบไล่ได้ตามหลักสูตรการศึกษากฎหมายที่จัดไว้เป็นหลักสูตรเฉพาะด้านในวิชากฎหมายเด็กและเยาวชน กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษีอากร กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ กฎหมายพาณิชย์นาวี กฎหมายล้มละลาย

[4] ข้อ ๗ วรรคสอง ผู้สมัครที่ได้ศึกษาและสอบไล่ได้ตามหลักสูตรการศึกษากฎหมายดังต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องศึกษาวิชากฎหมายตามวรรคหนึ่ง
(๒) ผู้สมัครที่ได้ศึกษาและสอบไล่ได้ในวิชากฎหมายที่อยู่ในกลุ่มวิชากฎหมายกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตามวรรคสอง (๑) ไม่น้อยกว่า ๔ วิชา และได้ศึกษาและสอบไล่ได้ในวิชากฎหมายตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่งอีกไม่น้อยกว่า ๒ วิชา โดยในจำนวนนี้อย่างน้อย ๑ วิชา ต้องเป็นวิชาตาม (๑) (๓) หรือกฎหมายแพ่ง ซึ่งพอเทียบได้กับลักษณะใดลักษณะหนึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์


[5] อ้างแล้ว see at Ref. 2

อ้างอิง : http://www.krisdika.go.th/lawHeadPDF.jsp?formatFile=pdf&hID=0
http://www.coj.go.th/ojc/www_ojc/p_toy/rule/rulesob/soblittle.pdf




1 comment:

Unknown said...

สวัสดีครับสอบถามครับ ถ้าใบแรกผมเรียน เป็นเฉพาะทางแล้วใบที่สองผมโอนหน่อยกิตมาสองวิชาตอนเรียน Master of law แต่ต้องใช้เวลาเรียน 1 ปีเท่าเดิมแค่ลดวิชาเรียนเท่านั้นไม่ทราบว่าจะมีปัญหาไหมครับขอบคุณครับ